ORAL HISTORY




      ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา เป็นนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่น 15 ที่มีความสามารถหลายด้าน ทั้งงานบริหาร งานวิชาการ งานสอน งานวิจัยและพัฒนา เป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกงานวิจัยทางสัตวบาล โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์โคและกระบือ ทำให้เกิดสถานีวิจัย และศูนย์วิจัยทางสัตวบาลหลายแห่ง เช่น ทับกวาง กำแพงแสน เป็นต้น ทำให้งานหลายด้าน เช่นการปรับปรุงพันธุ์โคและกระบือเจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อส่วนรวม เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติซึ่งได้รับรางวัล และโล่เกียรติคุณต่างๆ ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับพระราชทานโล่ผู้ทำคุณประโยชน์แก่วงการโคเนื้อ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา เกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2479 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของนายเลาะ นางแดง จันทลักขณา พ่อเป็นชาวประมง แม่ค้าขาย เป็นลูกคนที่สาม แม่ให้อยู่กับแม่นมที่รับเลี้ยงเด็กตั้งแต่อายุได้ 6 เดือน เนื่องจากแม่ต้องไปค้าขาย จึงต้องอาศัยกินแต่นมกระป๋องแทน พอโตขึ้นแม่ก็จะเอากลับไปอยู่กับพี่ชายและพี่สาวที่บ้าน แต่แม่นมไม่มีลูก จึงรักศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณามากเหมือนลูกแท้ ๆ ขาดไม่ได้นอนไม่หลับ จึงมาขอศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณากลับไปเลี้ยงต่อโดยไม่รับค่าจ้าง สามีแม่นมมีอาชีพถีบสามล้อรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ บางทีก็ไม่มีกิน ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา จึงประสบชีวิตที่ลำบากแบบครอบครัวคนจนในชนบท เมื่อขัดสนหรือจำเป็นจริงๆ แม่นมจึงจะไปขอเงินจากคุณพ่อคุณแม่ แม่นมจึงกลายเป็นแม่แท้ๆ ไปโดยปริยาย

ตอนอยู่กับแม่นมนั้น บ้านแม่นมอยู่หน้าวัดโพธิ์ ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา จึงกลายเป็นเด็กวัด เป็นลูกศิษย์หลวงพี่ไปด้วย ได้อาศัยข้าววัดมาพอสมควร ว่างๆ หลวงพี่ก็ใช้ให้วิ่งซื้อน้ำชากาแฟ แต่ส่วนใหญ่ให้คัดลายมือ จึงได้ลายมือหลวงพี่ติดตัวมาประกอบอาชีพ ความจริงแล้วพ่อแม่ของ ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา เป็นคนมุสลิม แม่นมเป็นพุทธ แต่มีสามีเป็นมุสลิม ปลูกบ้านอยู่หน้าวัดโพธิ์ ทำให้กลายเป็นศิษย์วัดในบ้านครึ่งพุทธครึ่งมุสลิม จนบัดนี้ก็เลยเป็นคนนับถือทุกศาสนา แม้แต่ศาสนาคริสต์ เพราะตอนไปเรียนที่อเมริกามีเพื่อนร่วมห้องพักเป็นคนอเมริกัน เขาก็ชวนไปโบสถ์เมโธดิสต์บ่อย ๆ ในวันอาทิตย์ อาจารย์เห็นว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีมีคุณธรรมทั้งนั้น คิดว่าถ้าไม่มีศาสนาช่วยฉุดช่วยดึงไว้ คนก็คงทำชั่วกันมากกว่านี้ และคนบางกลุ่มก็ชอบเอาศาสนาบังหน้า แล้วฆ่าฟันกัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นประสงค์ของพระเจ้า (God) หรือว่า God เป็น กฎ ของธรรมชาติให้คนถูกทำลายเสียบ้างเพื่อป้องกันคนล้นโลก

เมืองสงขลาสมัยนั้นยังเป็นเมืองเล็กในชนบท ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณาเป็นเด็กชนบท อายุเกิน 8 ขวบแล้ว จึงได้เรียนหนังสือ เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเทศบาล 2 วัดชายน้ำ ก่อนเรียนประถม 1 ต้องเรียนชั้นมูล 1 ชั้นมูล 2 คงคล้ายกับชั้นเตรียม 1 เตรียม 2 สำหรับเด็กที่ไม่พร้อมเพราะไม่มีโอกาสได้เรียนอนุบาล เรียนชั้นมูล 1 ไม่ถึงเดือนก็ได้เลื่อนขึ้นชั้นมูล 2 อยู่ชั้นมูล 2 ราว 1 เทอม ก็ได้เลื่อนชั้นขึ้นไปเรียนชั้นประถม 2 พอดีเกิดสงครามญี่ปุ่นบุกขึ้นสงขลา สงขลาถูกเครื่องบินพันธมิตรทิ้งบอมบ์ โรงเรียนปิด ครอบครัวทิ้งบ้านช่องหนีไปอยู่พัทลุง บ้านญาติของแม่นม ที่ตำบลตะเครียะ ระหว่างอำเภอระโนต และอำเภอปากพยูน ได้ไปรีดนมควายกิน เพราะสมัยนั้นชาวบ้านยังใช้ควายไถนากันทั่วไป

พอสงครามสงบ ก็ได้กลับบ้านสงขลา โรงเรียนก็เลื่อนชั้นให้เรียนประถม 3 ตอนนั้นป่วยเป็นไข้มาเลเรียเรื้อรังเกือบเสียชีวิต ยังโชคดีที่ครูประจำชั้นหาเพื่อนที่เป็นหมอมารักษาให้จนหาย กินยาควินินเสียจนตาเหลือง พอจบประถม 4 ก็เป็นอันหมดชั้นของโรงเรียนเทศบาล 2 วัดชายน้ำ จึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนราษฎร์ (โรงเรียนวชิรานุกูล) จนจบชั้นมัธยม 6 ก็ไปเรียนต่อมัธยม 7 และ 8 คือชั้นเตรียมอุดมศึกษาที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ อันเป็นโรงเรียนที่มีชั้นเตรียมอุดมศึกษาหนึ่งในสองแห่งของภาคใต้ (อีกแห่งหนึ่งคือที่จังหวัดนครศรีธรรมราช) การเข้าศึกษาชั้นนี้ต้องสอบแข่งขัน นักเรียนที่นี่จึงเต็มไปด้วยนักเรียน เก่งๆ จากโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งนักเรียนเก่งของโรงเรียนมหาวชิราวุธเอง คนที่สอบเข้าไม่ได้หากพ่อแม่ฐานะดีก็ต้องเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ สำหรับศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณาในตอนนั้นคิดว่าถ้าสอบเข้าไม่ได้ก็จะไปทำงานเป็นครูสอนหนังสือแล้วค่อยสอบ ป.ป. และ ป.ม. คือวิชาครูระดับประโยคประถมและประโยคมัธยม การเป็นครูสมัยก่อนเป็นอาชีพที่มีคนนับหน้าถือตา และมีรายได้พออยู่พอกิน คนต่างจังหวัดนับถือและเคารพคนเป็นครู ถือได้ว่าเป็นผู้นำท้องถิ่นคนหนึ่ง

พอจบชั้น ม. 8 (พ.ศ. 2498) ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา เข้ากรุงเทพฯ มาอยู่กับพี่ชายซึ่งอาศัยอยู่กับคนที่นับถือเป็นญาติแถวประตูน้ำ เพื่อหาที่เรียนต่อ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะเรียนอะไรดี ใจหนึ่งอยากเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ใจหนึ่งอยากเป็นนายอำเภอ แต่เครื่องแบบทหารอากาศก็ชอบ ฯลฯ สมัยนั้นไม่มีครูแนะแนว อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนมาชวนให้ไปสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนนั้นสอบแยก คือสอบเข้าแต่ละสถาบัน (มี 5 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่นับโรงเรียนทหาร) ความจริงยังไม่ทราบเลยว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เขาสอนอะไร บางคนบอกว่าทำไร่ทำนา เมื่อเพื่อนมาชวนก็ตามเพื่อนไป ท้องทุ่งบางเขนเป็นทุ่งนากว้าง บรรยากาศดี เกษตรมีทุนการศึกษา มีหอพักนิสิต เหมาะสำหรับนักเรียนบ้านนอก มีโอกาสได้มาพักแอบอาศัยอยู่ในช่วงเวลาก่อนสอบ (ด้วยความอนุเคราะห์จาก ศาสตราจารย์ ดร. บุญธรรม จิตต์อนันต์ อดีตหัวหน้าหอ 8)

ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา ได้ตัดสินใจสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งเดียว สอบเข้าได้และได้ทุน ตอนนั้นคิดว่าถ้าสอบไม่ได้ก็จะเรียนรัฐศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ใครเรียนก็ได้ ถ้าเรียนรัฐศาสตร์ก็หวังจะเป็นนายอำเภอ เพราะอยู่ต่างจังหวัดสมัยนั้น นายอำเภอเป็นคนสำคัญและยิ่งใหญ่มาก แต่ในที่สุดก็ได้เข้าเรียนคณะกสิกรรมและสัตวบาล (คณะเกษตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (รุ่น 15) เป็นนิสิตอยู่หอ 3 เมื่อ พ.ศ. 2498 อายุได้ 18 ปี

ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา เล่าว่าชีวิตที่เกษตรสนุกมาก ดีไปทุกๆ อย่าง สิ่งแวดล้อมดี อาจารย์ดีอยู่สบายดี เพื่อนดี ได้ทุนการศึกษา ผูกข้าวกินอิ่มดี พอเรียนได้ชั้นปีที่ 2 ใน พ.ศ. 2500 (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สมัยนั้นเรียน 5 ปี) ก็สอบชิงทุน ก.พ. ไปเรียนต่ออเมริกาได้ จึงไปนอกอย่างไม่ได้คิดไม่ได้ฝัน

ตอนอยู่หอ 3 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. พิศิษฐ์ วรอุไร ซึ่งอยู่หอเดียวกัน ได้เรียนวิชาปรับปรุงพันธุ์สัตว์ เวลาไม่เข้าใจก็มาบ่นกับเพื่อน ๆ ที่หอ วันหนึ่งรองศาสตราจารย์ ดร. พิศิษฐ์ วรอุไรเรียนเรื่อง Wright's coefficient of relationship ซึ่งใช้วัดความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของเครือญาติ ก็อยากรู้ว่าสูตรนั้นเป็นมาอย่างไร ถามใครก็อธิบายไม่ได้ จึงบ่นเชิงปรารภกับ ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา ว่า ถ้าหากได้ทุนไปเรียนเมืองนอก ขอให้ไปเรียนวิชาปรับปรุงพันธุ์สัตว์กับศาสตราจารย์ J.L. Lush ผู้เขียนตำราเล่มนั้นที่มหาวิทยาลัยรัฐไอโอวา จะได้กลับมาสอนวิชานี้ และจะได้รู้ว่าสูตรดังกล่าวคำนวณมาได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ พอ

ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณาสอบได้ทุน ก.พ. ก็เลือกไปเรียนที่ Iowa State University เรียนปริญญาตรีทางสัตวบาล จบแล้วเรียนต่อปริญญาโทและเอก สาขาวิชาเอก ปรับปรุงพันธุ์สัตว์ สาขาวิชารอง สถิติ ก่อนจบปริญญาเอก (เหลือแต่ทำวิทยานิพนธ์) ก็กลับมาทำงานที่เกษตร 5 ปี แล้วกลับไปทำวิทยานิพนธ์ที่เดิมอีกปีครึ่งด้วยทุน Rockefeller Foundation ก็จบปริญญาเอก ใน พ.ศ. 2511 ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา บอกว่าแนวทางการศึกษาของตนขึ้นอยู่กับเพื่อนแทบทั้งสิ้น ไม่ใช่พรหมลิขิต แต่เพื่อนลิขิตให้ สรุปแล้ว เรียนอะไรก็ได้ ความสำเร็จในชีวิตการทำงานอยู่ที่ตัวเราเองทุกคน ความเจริญรุ่งเรืองมีชื่อเสียงอยู่ที่การกระทำของเราเอง วิชาความรู้เป็นเพียงอุปกรณ์ของชีวิต เราเป็นผู้ใช้อุปกรณ์ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม

การทำงานครั้งแรกจริงๆ ในชีวิตของศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา คือถีบสามล้อรับผู้โดยสาร เพราะต้องการหารายได้ช่วยครอบครัวแม่นม ตอนที่ยังเรียนชั้นมัธยม แต่ทำได้วันเดียวก็ต้องเลิก เพราะมีเสียงคัดค้านจากหลายๆ คน จึงหมดโอกาสเป็นนักถีบสามล้อเรืองนามของสงขลา มาเริ่มทำงานจริงๆ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ภาควิชาสัตวบาล คณะกสิกรรมและสัตวบาล) เมื่อ พ.ศ. 2504 โดยบรรจุเป็นลูกจ้างชั่วคราว (อาจารย์) ก่อน เพราะภาควิชายังไม่ได้ตั้งตำแหน่งไว้รับ แล้วได้บรรจุเป็นอาจารย์เมื่อ พ.ศ. 2505 ปลาย พ.ศ. 2505 ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา ก็ถูกส่งไปประจำสถานีฝึกนิสิตทับกวาง จังหวัดสระบุรี เป็นหัวหน้าสถานีและเป็นข้าราชการคนเดียว นอกนั้นเป็นคนงานไร่และคนงานเลี้ยงวัว ราว 15-16 คน จึงได้เริ่มทำงานพัฒนาสถานีทับกวาง และเริ่มทำงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อโดยการผสมข้ามพันธุ์โคพื้นเมืองกับพันธุ์ยุโรป อาทิ พันธุ์เฮอร์ฟอร์ดโดยใช้วิธีผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแข็ง โดยมีอาจารย์ประเสริฐ เจิมพร ช่วยเหลือด้านผสมเทียม

สถานีฝึกนิสิตทับกวางเป็นสถานีที่ค่อนข้างกันดาร มีไข้มาเลเรียชุกชุม ไฟฟ้าไม่มี น้ำใช้มาจากอ่างน้ำซับ ถนนเป็นโคลนในหน้าฝน บางครั้งต้องเดินจากไร่ 7-8 ก.ม. เพื่อเข้าเมือง เพราะรถเข้าไม่ได้ ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา ทำงานตั้งแต่งานเสมียนจนถึงงานสมอง งานธุรการ การเงิน ก่อสร้าง เลี้ยงวัว ฯลฯ อาจารย์ต้องทำทุกอย่าง ทำหน้าที่รักษาป่ารอบ ๆ สถานี รวมทั้งภูเขา หัดดื่มเหล้า เคล้านิทาน หัดเต้นรำ ฝึกหัดกระบวนท่าทุกขั้นตอนของชีวิตคนหนุ่มในชนบท มีเพื่อนฝูงมากมายทั้งตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และพรรคพวกในสายเกษตร รวมทั้งพยาบาล ครูสาว ๆ นักร้อง พาร์ตเนอร์ ฯลฯ ทับกวางจึงเป็น วิทยาลัยชีวิต โดยแท้ และที่ทับกวางนี้เอง จึงได้เรียนรู้ว่า ปัญหาการเกษตรของชาวบ้านนั้นยากกว่าวิชาที่เรียนมามาก และวิชาที่เรียนมาก็ไม่แน่ว่าจะช่วยชาวบ้านได้ ปัญหาด้อยการศึกษาของชาวบ้าน ปัญหาการขูดรีดคนจนของนายทุน ฯลฯ นั้น เป็นปัญหาที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนเต็มไปด้วยผลประโยชน์แอบแฝง มีทั้งอิทธิพลการบ้านการเมือง ฝังลึกยิ่งกว่าโรคมะเร็งร้ายก็ว่าได้

การได้มาทำงานเป็นหัวหน้าสถานีทับกวางที่ยาวนานเกือบห้าปีในสมัยนั้น จึงได้รับบทเรียนชีวิตจากประสบการณ์มากมาย ได้เกิดความกล้าจากความกลัว เช่นกลัวผีเพราะอยู่คนเดียวในบ้านมืดกลางป่า อยู่ไปนานๆ ไม่เคยเห็นผีก็เลยเลิกกลัว กลัวโจรผู้ร้ายเพราะอยู่คนเดียวกับปืนสั้นกระบอกเดียว อยู่ไปอยู่มาก็ได้เรียนรู้ว่า ถ้าเรามีความเมตตาและความรักให้กับคนอื่น เขาก็จะให้ความเมตตาและความรักมาคุ้มครองเรา ดีกว่ามีปืนห้าร้อยกระบอกเสียอีก เราก็นอนหลับสบาย ไร้กังวล บทเรียนเหล่านี้มีคุณค่าต่อชีวิตอย่างหาค่าเปรียบมิได้ ทำให้ระลึกถึงผู้ที่ให้โอกาสไปเรียนชีวิตอยู่ทับกวางเกือบห้าปี คือ พ.ศ. 2505-2509

สิ่งที่มีค่าอีกอย่างหนึ่งที่ได้จากทับกวางนอกจากที่ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา เล่ามาแล้วก็คือ เทคนิคการเล่านิทานขบขัน บางคนอาจเรียกว่า Dirty joke หรือเรื่องสัปดน แต่ทุกอย่างมีประโยชน์ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกกาลเทศะ ซึ่งมีประโยชน์มากในการสอนหนังสือ โดยเฉพาะการสอนวิชาสถิติซึ่งมักทำให้นักเรียนง่วง ยาแก้ง่วงที่ดีคือ เล่านิทานสัปดนให้นักเรียนฟัง ซึ่งต่อๆ มาก็มีคนชอบฟังกันพอสมควร เพราะคงจะแก้เครียดได้บ้าง คนเครียดๆ เกิดฮอร์โมนมารในร่างกายมากทำให้ไม่สบาย ได้ฟังนิทานสัปดนแล้วก็จะสบายคลายเครียด ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา ได้พูดเสมอว่า ชีวิตเครียดเกินไปที่จะเครียด แปลจากฝรั่งว่า Life is too serious to be taken seriously คำพูดนี้ถ้าคิดให้เข้าใจ และรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ก็จะไม่แก่เร็วแน่นอน ดังที่ คุณประยูร จรรยาวงศ์ นักเขียนการ์ตูนไทยรัฐ เคยมีคำขวัญว่า สัปดนวันละนิด จิตแจ่มใส

สมัยทำงานที่ทับกวางนั้น ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา มีลูกศิษย์ไปอยู่ทำงานวิจัยเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาตรีหลายคน อาทิ คุณประมวล ทับธง อาจารย์บุญเหลือ เร่งศิริกุล คุณสมนึก เกตุชาติ อาจารย์ ดร.บุญลือ เผือกผ่อง เป็นต้น นับว่าเป็นลูกศิษย์ยุคบุกเบิกทับกวางโดยแท้ ชีวิตช่วงนั้นจึงทำหน้าที่ เลี้ยงคน เลี้ยงวัว เลี้ยงตัว เลี้ยงเพื่อน….. เรื่อยไปจนถึงเลี้ยงลูกศิษย์หลายๆ คนที่ไปทำวิทยานิพนธ์ที่ทับกวาง

ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา เริ่มทำงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อตั้งแต่พ.ศ. 2505 แล้วย้ายโคจากทับกวางมากำแพงแสน พ.ศ. 2513 และมาทำหน้าที่บุกเบิกสถานีวิจัยกำแพงแสนตั้งแต่ พ.ศ. 2512 ซึ่งต่อมาโคพื้นฐานเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน ด้วยความวิริยะอุตสาหะของศาสตราจารย์ปรารถนา พฤกษะศรีและคณะ (ศาสตราจารย์ปรารถนาเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของอาจารย์ที่กำแพงแสน)

ใน พ.ศ. 2514 ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา ได้เริ่มงานวิจัยกระบือร่วมกับกรมปศุสัตว์ และเริ่มงานปรับปรุงพันธุ์กระบือที่สุรินทร์ และลำพญากลาง (โคราช) ใน พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยฯ กระบือและโค และร่วมจัดตั้งศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติ หรือ IBIC (International Buffalo Information Center) ณ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ดรุณา สมบูรณกุล ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในสมัยนั้น

ด้วยผลงานวิจัยที่เผยแพร่ไปสู่นานาชาติ อาจารย์จึงได้รับเชิญให้เป็นกรรมการวิชาการและบริหารในประเทศและระดับนานาชาติหลายแห่ง อาทิ เป็นกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์ของ เอฟ เอ โอ (FAO/UN) เป็นกรรมการ TAC (Technical Advisory Committee) ของ CGIAR (Consultative Group on International Agricultural Research) เป็นกรรมการ Implementing Advisory Group เพื่อจัดตั้ง ILRI (International Livestock Research Institute) และต่อมาได้เป็น Vice - Chairman ของ Board of Trustee ของ ILRI เป็นต้น

ด้านการสอน ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา สอนวิชาต่างๆ หลายวิชา เช่น วิชาโคเนื้อ การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ พันธุศาสตร์ประชากร สถิติ การวางแผนทดลอง และการสอนวิชาสถิติการวิเคราะห์ และวางแผนงานวิจัยแก่นิสิตนักศึกษาในสถาบันต่างๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบัน AIT (Asian Institute of Technology) เป็นต้น ทั้งยังทำหน้าที่บรรยายทางวิชาการต่าง ๆ ให้แก่กรม กอง และเกษตรกร ฯลฯ ตามคำขอ หรือ ตามคำขู่ โดยเฉพาะเมื่อคนขู่เป็นอดีตลูกศิษย์ก็มักต้องยอมเหมือนหมองูตายเพราะงูฉันใด อาจารย์ก็มักจะเป็นโรคแพ้ลูกศิษย์ฉันนั้น

ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา ได้เขียนหนังสือและตำราไว้กว่า 15 เล่ม เขียนรายงานวิจัย และบทความวิชาการอีกกว่า 200 เรื่อง เขียนบทความลงหนังสือในต่างประเทศอีกมากมาย ซึ่งเชื่อว่าคงเป็นประโยชน์ทางวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศพอสมควร

      ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา ได้ทำงานและรับผิดชอบในหน้าที่หลายอย่าง เริ่มต้นด้วยทำงานเป็นอาจารย์ (ลูกจ้างชั่วคราว ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ได้บรรจุเป็นอาจารย์ใน พ.ศ. 2505 เป็นหัวหน้าสถานีวิจัยทับกวาง จังหวัดสระบุรี (พ.ศ. 2505-2509) ร่วมบุกเบิกวิทยาเขตและสถานีวิจัยกำแพงแสน (พ.ศ. 2511-2516) เป็นหัวหน้าภาควิชาสัตวบาล ครั้งแรก (พ.ศ. 2517-2519) ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนา คณะเกษตร (พ.ศ. 2518-2521) คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (พ.ศ. 2521-2522) ผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พ.ศ. 2522-2523) ศาสตราจารย์ระดับ 10 (พ.ศ. 2525-2531) หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตกระบือและโค (พ.ศ. 2527-2534) หัวหน้าภาควิชาสัตวบาล ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2527-2529) ศาสตราจารย์ ระดับ 11 (พ.ศ. 2531) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (พ.ศ. 2529-2531) รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวางแผนพัฒนา (พ.ศ. 2531-2533) ท้ายที่สุดเป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณตั้งแต่เกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2539 รวมเวลาที่ทำงานมา 35 ปี

ในช่วงที่ทำงานอันยาวนานมานี้ มีผลงานหลายอย่างที่โดดเด่นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและนานาชาติ จึงทำให้ได้รับรางวัลต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติหลายรางวัล เช่น นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลทุนวิจัย เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สำนักนายกรัฐมนตรี บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นและสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รางวัล The First Science Award of AAAP (Aisan-Australasian Assoc. of Animal Production Societies) และโล่ผู้ทำคุณประโยชน์แก่วงการโคเนื้อ (รับจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี) ผู้มีคุณูปการต่อการปศุสัตว์ไทย (สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย) ผู้ทำคุณประโยชน์แก่สมาคมสัตวศาสตร์แห่งเอเชีย-ออสเตรเลีย (AAAP) รวมทั้งได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์เกษตร จาก University of Melbourne ประเทศออสเตรเลีย (พ.ศ. 2539) และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเกษตร จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (พ.ศ. 2538) สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ คือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ

      คติและหลักการทำงานคือ อิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ความกตัญญูเป็นสมบัติของคนดี ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน

ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา มีสิ่งภูมิใจสูงสุดในชีวิตอยู่สองอย่างในบรรดาหลายๆ อย่าง ที่ทำให้มีความสุขมากๆ คือ การที่มีศิษย์หลายๆ คน ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน ไม่ว่าศิษย์ปริญญา หรือศิษย์เกษตรกร ศิษย์โดยตรงหรือศิษย์ทางอ้อมก็ตาม และการที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ต่าง ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเกษตรกรยากจนในชนบท โดยเฉพาะเรื่องการปรับปรุงและพัฒนาวัว ควายไทย ทั้งสองอย่างนี้เป็นรางวัลทางใจ เป็นมาลัยชีวิต มีค่าเหนือกว่ารางวัลหรือสิ่งตอบแทนทางวัตถุนิยมใดๆ

อนาคตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่อยากเห็น ในโอกาสที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การมองย้อนอดีตก็ย่อมเป็นประโยชน์ ทำให้ทราบว่าจุดกำเนิดและวิวัฒนาการเป็นมาอย่างไร อดีตเป็นที่มาของปัจจุบัน ปัจจุบันจะเป็นผู้สร้างอนาคต ถ้าสามารถใช้อดีตกับปัจจุบันได้อย่างผสมผสาน การสร้างอนาคตก็จะเกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติอย่างดี ทุกสถาบันมีที่มา มีอดีต มีอุดมการณ์ของผู้ก่อตั้ง พูดง่ายๆ ว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น ตั้งขึ้นมาด้วยอุดมการณ์ของบูรพาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่มองการณ์ไกล น่าที่รุ่นลูกหลานจะได้ศึกษาน้อมนำมาพิจารณาบูรณาการกับปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา จึงเสนอแนวคิดที่ได้รับเป็นความประทับใจจากบูรพาจารย์คือ

หนึ่ง : บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ควรจะได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนตีนติดดิน หมายถึง เป็นคนที่รู้เรื่องสังคม และ ชาวบ้าน (ที่ฝรั่งเรียกว่า grassroot) เป็นหลัก ไม่ใช่เก่งแต่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ควรมีความรู้และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะสังคมชนบทและชาวบ้านผู้ยากไร้ ไม่ว่าบัณฑิตผู้นั้นจะจบจากสาขาวิชาใดจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

      สอง : อาจารย์และนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควรให้ความสนใจในการค้นคว้าวิจัยเพื่อช่วยเหลือคนยากจนในสังคมให้มากขึ้นในทุกสาขาวิชา เพราะทุกวันนี้มีแนวโน้มว่าเราจะไปไฮเทคกันมากขึ้น จนกระทั่งปัญหาด้านการทำมาหากินของคนยากคนจนถูกละเลยและหลงลืมไปมาก เราไม่น่าจะต้องรอให้ฝรั่งมาบอกว่า ปัญหาความยากจนของคนไทยเป็นเรื่องสำคัญนะ แล้วเราจึงจะหันมาสนใจ บูรพาจารย์ของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ที่ได้รู้จักท่านมา ล้วนแต่เน้นความสำคัญของเรื่องนี้กันทั้งนั้น

สาม : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ควรสอนลูกศิษย์เรื่อง การแข่งขัน ให้น้อยลงแต่สอนเรื่อง การแบ่งปัน และคุณธรรมเรื่องความเมตตากรุณา ความกตัญญูรู้คุณคน ฯลฯ ให้มากขึ้น สอนเรื่อง คุณค่า ด้านจิตใจให้มากขึ้นกว่าเดิม ทุกวันนี้เรามักสอนให้คนคิดเป็นแต่เรื่อง ราคา วัตถุกันมากขึ้น แต่ลืมเรื่องคุณค่าของสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องความยั่งยืนและการดำรงคงอยู่ของสังคมและประเทศชาติ ทุก ๆ คณะวิชาควรให้ความสำคัญแก่ความรู้เรื่องมนุษย์ คุณค่า และคุณธรรมอย่างจริงจังเท่าวิชาอื่นๆ ไม่ใช่สอนแบบ ขอไปที

สี่ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควรลดเรื่อง การสร้างตึก ให้น้อยลง แต่เพิ่ม เรื่องการสร้างคน ให้มากขึ้น อันหมายถึง การพัฒนาบุคลากร (อาจารย์และเจ้าหน้าที่ทุกระดับ) การลงทุนด้านการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตโดยไม่ต้องเริ่มด้วยการสร้างตึกหรือวัตถุแพงๆ

ทั้งสี่ข้อนี้ เป็นความเห็นที่ขอฝากไว้กับผู้ที่เป็นปัจจุบันและเป็นอนาคตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วยสำนึกว่าเราต่างก็มีส่วนเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยกันทั้งนั้น

      ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา สมรสกับ รองศาสตราจารย์อัจฉรีย์ (นามสกุลเดิม วิชาเจริญ) จันทรลักขณา เป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีบุตร 3 คน คนโตเป็นผู้ชาย จบปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตร์ กำลังศึกษาปริญญาโท สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คนที่สองเป็นผู้ชาย จบปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จาก University of Sheffield ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คนที่สามเป็นผู้หญิง จบปริญญาตรี สาขาการเงิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบปริญญาโท สาขาธุรกิจเกษตร จาก University Melbourne
ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2566 สิริรวมอายุได้ 87 ปี

      

      


แหล่งข้อมูล

จรัญ จันทลักขณา. สัมภาษณ์, 19 มกราคม 2545.

จรัญ จันทลักขณา. สมุดประวัติประจำตัวข้าราชการสำนักนายกรัฐมนตรี, 2505.



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University